งานบวช ถือเป็นพิธีหนึ่งที่สำคัญต่อชีวิตของชายไทยว่า กิดมาครั้งหนึ่ง ไม่เสียชาติเกิดที่ได้บวชเป็นพระ ก่อนที่จะบวชได้นั้น คนที่จะบวชได้จะต้องพร้อมทั้งกายและใจ สถานที่บวชส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเกิดที่มีบิดา มารดาของผู้บวชด้วยจะดีที่สุดครับ เพราะอย่างน้อยท่านจะได้ใส่บาตรให้ทุกๆ วันได้เห็นลูกของตนอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ คงจะปลื้มปริ่มใจไม่ใช่น้อย

งานบวชสำคัญไฉน ทำไมต้องบวช

งานบวช ถือว่าเป็นงานที่สำคัญสำหรับคนไทย เพราะเป็นหนึ่งในประเพณีแต่โบราณ มีคำกล่าวไว้ว่า หากใครได้บวช พ่อ แม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองไปขึ้นสวรรค์ น่าจะเป็นคำพูดที่เปรียบเปรยได้ว่า การบวชนั้นถือว่าได้บุญหนักมาก

อันที่จริงแล้วบทความนี้ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีบวช มีกี่แบบ อะไรบ้าง หรือประวัติเกี่ยวกับประเพณีพวกนี้น่าจะเป็นความรู้ที่สามารถหาได้ทั่วไป แต่อยากจะมาเล่าประสบการณ์ของการจัดงานบวชว่าเมื่อเริ่มจัดเจออะไรบ้าง ที่สำคัญจะเป็นประโยชน์สำหรับ ช่างภาพงานบวช ที่ต้องเตรียมตัวถ่ายงานบวช ว่าจะต้องแชะกันตรงไหนบ้าง ส่วนที่สำคัญๆ ที่อยากจะแนะนำให้กับช่างภาพงานบวช นอกจากผู้บวชเองที่จะต้องเตรียมตัวกันแล้ว ช่างภาพก็ต้องเตรียมตัวเช่นกัน พิธีตรงไหนสำคัญ ภาพตรงไหนที่ต้องเจาะ หรือส่วนประกอบรายละเอียดอะไรที่ต้องเก็บ ลองอ่านดูบทความนี้ที่เราจะแนะนำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบบทความเลยทีเดียว

เตรียมตัวอย่างไรถ้าจะต้องบวชแล้ว

สิ่งแรกที่คนจะบวช คือต้องเตรียมตัวและใจ บอกพ่อกับแม่ว่าจะบวชแล้วนะ จากนั้นให้ไปที่วัดที่จะบวช ไปขอวันที่จะบวช ส่วนใหญ่จะบวชในช่วงเข้าพรรษา เพราะว่าพระอาจารย์จะได้อยู่จำพรรษา สั่งสอนลูกศิษย์วัดที่บวชเข้ามาใหม่ หากไม่สะดวกฤกษ์นี้ก็อาจจะหาฤกษ์สะดวก เช่น ช่วงปิดเทอมก็สามารถบวชได้ ถ้าหากเป็นช่วงสั้นๆ อาจจะหาฤกษ์สะดวกเราก็ได้ ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยบวช 15 วันในช่วงเดือนเมษายน ก่อนส่งกรานต์เช่นกัน แต่ถ้าจะบวชยาวหน่อย เป็นช่วงเข้าพรรษาจะเหมาะเลย

เมื่อเตรียมกาย ใจ ได้วันที่แล้ว จากนั้นก็เตรียมทุนทรัพย์สำหรับการจัดงานบวช หากไม่มีทุนทรัพย์มาก เราสามารถบวชแบบเล็กๆ ได้ บางคนผมเคยได้ยินได้ฟังมา ได้หม้อแกงเดียวถือไปวัดกับพ่อแม่ให้พระโกนหัวให้ก็สามารถบวชได้แล้ว แต่ในความจริงปัจจุบัน เราก็อาจจะต้องมีพิธีรีตองกันสักหน่อย ส่วนใหญ่ญาติๆ ก็จะเป็นฝ่ายเตรียมงานเหล่านี้ช่วยกันทั้งนั้น นับตั้งแต่ยกเต้นท์ไปเลยทีเดียว

ก่อนบวช นาคต้องทำอะไรบ้าง

ปกติแล้วคนที่จะบวช จะต้องเตรียมตัวท่องคำขานนาค ปกติแล้วเมื่อไปพบพระที่เราจะบวชด้วย ท่านก็จะแนะนำว่าให้ไปท่องอะไรบ้าง บางคนต้องเตรียมตัวอยู่เป็นสัปดาห์เลยละ ไปวัดหัดท่องคำขานนาคให้ได้เสียก่อน แต่บางคนเขาก็ไม่ได้ท่อง อย่างกรณีของผมไม่ได้ท่องไปก่อนเลย แต่จะมีพระนำท่องให้

ใช้งบเท่าไหร่ในการบวช

ถามว่าต้องเตรียมใช้งบเท่าไรในการบวช อันนี้ก็ต้องขอตอบว่า แล้วแต่! เพราะถ้าจัดงานใหญ่ บางงานจ้างมหรสพหมอลำคณะใหญ่ก็จะเปลืองงบหน่อย เพราะเขามีเงินและลูกบวชทั้งทีเขาก็เลยจัดใหญ่ได้ แต่ถ้าใครไม่มีงบมาก อยากบวชแบบธรรมดาๆ ก็ไม่ต้องเตรียมมากก็ได้ งานบวชของผม ตอนแรกกะจะจัดเล็กๆ เอาไปเอามาก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีกลองยาว และกับข้าวสำหรับเลี้ยงคน 2 วันก็ปาไปที่ประมาณ 3 หมื่นกว่าบาท เมื่อนับซองคนมาช่วยงานก็ถัวๆ กันไป กับค่ากับข้าวทั้งหมดแหละครับ และอย่าลืมซองที่เราต้องเตรียมไว้พิธีที่อยู่ในโบสถ์ด้วยนะครับ รวมทั้งของต่างๆ ที่ต้องเตรียมก็มีอยู่หลายอย่างเหมือนกัน รวมทั้งค่าบำรุงวัด และค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ส่วนตัวเวลาบวชแล้ว เช่น ค่ารองเท้าแตะ หมอน มุ้ง ที่นอน พวกนี้เราอาจใช้ของที่มีอยู่ในบ้านไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อใหม่ครับ จะได้ประหยัด

ขั้นตอนไหนที่ช่างภาพงานบวชห้ามพลาด

มาถึงจุดสำคัญของเราครับ งานบวชพระเป็นอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ อยากแนะนำให้ช่างภาพ เก็บอารมณ์หรือโมเม้นต์ของคนที่มาร่วมงานในขั้นตอนต่างๆ โมเม้นต์ที่สำคัญ เช่น ตอนโกนผมนาค อันนี้จุดเด็ดเลยครับ บางงานบวช พ่อ แม่ถึงกับน้ำตาซึมเพราะปลื้มปริ่มใจเหลือเกิน ช่างภาพจะต้องสังเกตและรีบเก็บเอาภาพตรงนี้ อย่าลืมภาพพวกใบบัว หรือผมที่โกนแล้ว ตอนพ่อ แม่โกนผม อันนี้ชอร์ตที่ไม่ควรพลาดเลยครับ

อีกชอร์ตที่ต้องเก็บภาพ คือ ตอนทำพิธีอยู่ใบโบสถ์จะมีพิธีเยอะหน่อย แต่ช่างภาพอาจจะถ่ายยากหน่อย เพราะบางพื้นที่จะแคบมาก และบางโบสถ์จะทึบไม่ค่อยมีแสงเข้า ดังนั้น ช่างภาพต้องเตรียมอุปกรณ์ช่วยเรื่องพวกนี้ด้วย เช่นกล้องที่ซูมไกลได้ หรือแฟลช เป็นต้น

ชอร์ตตอนแห่นาค เป็นชอร์ตที่ช่างภาพจะต้องเหนื่อยอีกเช่นกัน เพราะอารมณ์ตอนแห่ ทุกคนจะสนุกสนานกัน บางงานจะมีคนแบกนาค หรือบางงานจะแห่นาคบนแคร่และสั่นแรงๆ ตอนนี้แหละช่างภาพต้องเก็บภาพให้ได้อารมณ์ของนาคกำลังจะตกแคร่ หรือถ่ายเป็นอาการนาคพยายามจับแคร่เอาไว้แน่นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่ไม่ควรพลาด ฉากตอนพ่อถือบาตร แม่ถือผ้าไตร ก็เป็นฉากสำคัญต้องเก็บภาพให้ได้นะครับ ถ้านาคคนไหนมีแฟนสาวเขา เขาจะถือหมอน เราก็เก็บภาพเหล่านี้ไว้ครับ ให้ภาพเล่าเรื่องราวให้ได้ อย่าถ่ายแต่ตัวคนนะครับ พยายามถ่ายเพื่อเล่าให้ได้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่

นอกจากในงานแล้ว ถ้ามีโอกาสก็ถ่ายตอนบิณฑบาตรได้ยิ่งดีครับ ช่วงเช้าๆ ตอนพระใหม่ออกบิณฑบาตร ถ้าหากช่างภาพที่ลงทุนหน่อย จะได้ภาพตอนเช้ามีแสงตะวันอ่อนๆ แล้วมีพระไปบิณฑบาตรตามบ้านคน ถือเป็นฉากที่ทำได้ยากที่สุดแหละครับ แต่ถ้าทำได้ถือว่าคุ้มมากๆ เลยละ ตอนผมบวชไม่มีฉากนี้ครับ แต่เห็นบรรยากาศแล้วมันใช่เลยละ

ต้องการอะไรจากการบวช

เมื่อบวชแล้ว การเป็นพระก็ต้องมีเป้าหมายบ้างละ ใช่ไหมครับ เราควรตั้งเป้าหมายไว้ว่าในจำนวนวันที่เราตั้งใจจะบวชนี้ เราอยากได้อะไรนอกจากศีลที่เราต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว เราควรจะมองไปที่การมีสมาธิ หรือการนั่งสมาธิ แม้ว่าจะบทสวดเราจะสวดไม่ได้เพราะมีเวลาน้อยก็ไม่ต้องกังวลไป สิ่งสำคัญคือ การชะล้างทางจิตใจ ได้นอนตื่นเช้า ได้เดินบิณฑบาตร ได้สวดมนต์ทำวัตรเช้า วัดเย็น เวลาว่างๆ นอกจากการกวาดลานวัดแล้ว เราควรหาหนังสือ ตำราทางพระพุทธศาสนาสัก 2-3 เล่ม มาอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ในเรื่องที่เราสนใจ จะทำให้เราได้อะไรขึ้นเยอะจากการบวชครับ นอกจากจะได้ชื่อว่าห่มผ้าเหลืองแล้ว พ่อ แม่ภูมิใจแล้ว เรายังจะได้ความรู้ที่เกิดขึ้นตอนเราบวชด้วยนะครับ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.